หน้าจอมือถือมีกี่ประเภท อะไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกัน

ในการเลือกซื้อมือถือดี ๆ สักเครื่อง หน้าจอมือถือเองก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญ เพราะหน้าจอแต่ละชนิดก็แสงดผลแตกต่างกันไปคนละแบบ แถมมือถือแต่ละยี่ห้อก็หยิบมาใช้แตกต่างกันไป เราเลยจะมาอธิบายชนิด ประเภท และความแตกต่างของหน้าจอแต่ละชนิดกัน

เวลาผู้ผลิตมือถือทำการเปิดตัว หรือแม้กระทั่งเวลาที่สื่อมาแนะนำ / รีวิวมือถือรุ่นต่าง ๆ จะต้องมีการพูดถึงชนิดของหน้าจอด้วยทุกครั้งไม่ว่าจะเป็น OLED, AMOLED, IPS, LCD, TFT ซึ่งแต่ละประเภทจะไปอยู่ในมือถือรุ่นไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและราคาที่จะวางขายเป็นหลัก โดยในปัจจุบันหน้าจอมือถือจะสามารถแบ่งออกมาเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ หน้าจอ LCD และหน้าจอ OLED ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการแยกย่อยออกไปอีกตามเทคโนโลยีและผู้ผลิตดังนี้

หน้าจอ LCD หรือ Liquid Crystal Display เป็นหน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัลที่ใช้ผลึกเหลวเป็นองค์ประกอบหลัก ซ้อนทับด้วยฟิลเตอร์บางๆ หลายชั้นเหมือนแซนด์วิช และมีไฟ backlight เป็นแหล่งกำเนิดแสง โดยแสงจาก backlight นี้จะส่องผ่านฟิลเตอร์แต่ละชั้นรวมถึงชั้นผลึกเหลว โดยตัวผลึกเหลวนี้จะถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าให้เกิดการเรียงตัวกัน ทำให้แสง backlight มีการหักเหเป็นจุดสว่างและจุดมืดบนหน้าจอ จากนั้นแสงจะผ่านฟิลเตอร์ RGB ก่อให้เกิดสีสันขึ้นมา กลายเป็นภาพที่เราเห็นบนหน้าจอ โดยหน้าจอ LCD ที่ใช้ในมือถือจะมีหลัก ๆ อยู่เพียง 2 ชนิดก็คือ

เป็นจอ LCD ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Active Matrix ซึ่งมีแผ่นฟิล์ม TFT (Thin-Film Transistor) ทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณควบคุมผลึกเหลวให้เรียงตัวกันเพื่อปิดกั้น หรือเปิดทางให้แสง backlight ผ่านออกมาบนเม็ดพิกเซล คุณภาพการแสดงผลดีพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป และมีราคาถูกกว่าจอประเภทอื่น เราจึงมักจะพบจอ TFT ในสมาร์ทโฟนราคาประหยัดเสียเป็นส่วนใหญ่

เป็นหน้าจอที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด พัฒนาต่อยอดมาจากหน้าจอ TFT โดยแต่ละพิกเซลจะมีตัวส่งสัญญาณ 2 ตัว ทำให้มีสีสันสดใส และมีมุมมองการแสดงผลที่กว้างกว่า แต่ก็ทำมีราคาสูงกว่าหน้าจอ TFT ด้วย

หน้าจอ OLED หรือ Organic Light Emitting Diodes เป็นจอภาพที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตต่างจาก LCD มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มที่มีส่วนประกอบเป็นสารอินทรีย์ สามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเองเมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า จึงไม่จำเป็นต้องมี backlight ซึ่งสีดำบนจอ OLED นั้นเกิดจากการตัดไฟ ทำให้จอ OLED แสดงผลสีดำได้อย่างแท้จริง และกินไฟน้อยลงด้วย ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจึงได้ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ในการพัฒนาฟีเจอร์ Always-On Display เพื่อให้สมาร์ทโฟนแสดงข้อมูลบนหน้าจอได้ตลอดเวลาโดยไม่เปลืองแบตเตอรี่นั่นเอง

และด้วยความที่ไม่ต้องพึ่งพา backlight ทำให้จอ OLED บางกว่าหน้าจอ LCD มาก แถมยังมีความยืดหยุ่นสามารถโค้งงอได้ ทำให้ถูกเอามาใช้ในมือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่มีขอบโค้งและมือถือที่มีหน้าจอแบบพับได้อย่าง Galaxy Fold อีกทั้งหน้าจอ OLED ยังมี contrast ที่สูงกว่าจอ LCD อีกด้วย ทำให้แสดงสีและมีความสว่างมากกว่าหน้าอจ LCD แต่ก็แน่นอนว่าด้วยความสามารถขนาดนี้ก็ทำให้มีราคาที่แพงกว่าเช่นกัน หน้าจอ OLED ที่พบเห็นอยู่หลัก ๆ จะมีทั้งหมด 3 แบบ นอกเหนือจากนั้นจะเรียกว่าหน้าจอ OLED ตรง ๆ เลย

เป็นหน้าจอ OLED ที่ได้รับการอัปเกรดด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี Active Matrix ที่อยู่ในหน้าจอ TFT ช่วยให้สามารถยกระดับการแสดงผลให้ดียิ่งขึ้น จนได้สีดำที่ดำสนิท มีสีสันที่สว่างสดใสกว่าเดิม และมีอัตรารีเฟรชสูงกว่า แต่ก็มีข้อเสียเช่นกันคือ จอประเภทนี้จะสู้แสงแดดได้ไม่ดีนัก โดยแต่เดิมหน้าจอ AMOLED นั้นจะถูกใช้อยู่ในมือถือระดับเรือธงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มมีให้เห็นในมือถือระดับกลางแล้ว

เป็นหน้าจอ AMOLED ที่ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ด้วยการแทรกเซ็นเซอร์รับสัมผัสเข้าไปในจอ ทำให้หน้าจอยิ่งบางลงไปอีก ขณะเดียวกันก็การอัปเกรดให้จอสว่างขึ้น, ประหยัดพลังงานมากขึ้น, สู้แสงแดดได้ดีขึ้น และมีมุมมองที่กว้างขึ้น ซึ่งเรามักจะพบจอประเภทนี้ในสมาร์ทโฟนระดับเรือธงของ Samsung โดยเฉพาะมือถือตระกูล Galaxy ทั้งหลาย

เป็นหน้าจอ Super AMOLED ที่ปรับปรุงโครงสร้างใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบในหน้าจอ Super AMOLED ทำให้สามารถแสดงผลด้วยความละเอียดที่สูงขึ้น, สว่างขึ้น และประหยัดพลังงานมากขึ้น แถมยังมีความหนาน้อยลงอีกด้วย

เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ Samsung พัฒนาขึ้น โดยอัปเกรดหน้าจอ Super AMOLED ให้รองรับมาตรฐานการแสดงผลแบบ HDR10+ ช่วยให้การประมวลผลภาพมืดและสว่างแบบอัตโนมัติได้มีมิติขึ้น และสมจริงยิ่งกว่าเดิม ในทางทฤษฎีแล้วนับว่ากันว่ามีใกล้เคียงกับดวงตามนุษย์มากที่สุด

Fluid AMOLED เป็นเคคโนโลยีหน้าจอที่ทาง OnePlus พัฒนาขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันนั้นนับเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ในรุ่นแรกนั้นโดนข้อจำกัดของตัวหน้าจอ OLED ทำให้สามารถเพิ่ม Refresh Rate ได้สูงสุดที่ 90Hz แบบที่ใช้ใน OnePlus 7 Pro / 7T / 7T Pro แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้หน้าจอ OLED สามารถแสดงผลที่ 120Hz ได้แล้ว OnePlus จึงได้พัฒนาหน้าจอ Fluid AMOLED รุ่นที่ 2 ขึ้นมา และนำมาใช้ใน OnePlus 8 / 8 Pro ซึ่งนอกจากจะได้ Refresh Rate ที่เพิ่มขึ้นด้วยแล้ว ยังได้ Touch Sampling Rate ที่สูงถึง 240Hz ด้วย

อันนี้ต้องขอแยกพิเศษเนื่องจากเป็นหน้าจอที่มีเพียง Apple เท่านั้นที่ใช้ โดยหน้าจอ Retina จะมีทังหมด 3 รุ่นคือ Retina, Liquid Retina HD และ Super Retina โดยหน้าจอ Retina และ Liquid Retina จะเป็นหน้าจอประเภท LCD ส่วนหน้าจอ Super Retina จะเป็นหน้าจอประเภท OLED

หน้าจอ Retina / Liquid Retina HD เป็นหน้าจอ LCD ที่ทาง Apple เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ iPhone 4 แล้ว โดยคุณสมบัติของหน้าจอที่จะเรียกว่า Retina นั้น ทาง Apple ได้นิยามไว้ว่า Retina คือหน้าจอที่มีความคมชัดของรูปภาพและตัวหนังสือที่มากพอ โดยวัดจากระยะห่างจากหน้าจอและระยะสายตาที่จะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นหรือแยกแยะเม็ดพิกเซลได้ แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจะต้องมีความหนาแน่นของพิกเซล หรือมีความละเอียดขั้นต่ำเท่าไหร่จึงจะเรียกว่าเป็น Retina ได้

หน้าจอ Super Retina เป็นหน้าจอ OLED ที่ได้รับการพัฒนานให้ดีขึ้นกว่าเดิม มาพร้อมคุณสมบัติช่วงไดนามิกสูง (HDR) ซึ่งช่วยขยายบริเวณที่มืดและสว่างในรูปภาพและวิดีโอได้หลายระดับ คุณสมบัตินี้จะช่วยให้มองเห็นบริเวณที่มีสีดำสนิทและบริเวณที่มีสีขาวสว่างได้ โดยที่ยังคงรักษาความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบริเวณเหล่านั้นไว้ รูปภาพจะดูสดใสมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในการออกแบบยังช่วยลดผลกระทบของ “การเบิร์นอิน” บน OLED โดยใช้อัลกอริทึมพิเศษที่ตรวจสอบการใช้งานของแต่ละพิกเซลเพื่อสร้างข้อมูลการปรับเทียบสีหน้าจอ และจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อปรับระดับความสว่างสำหรับแต่ละพิกเซลโดยอัตโนมัติตามต้องการเพื่อลดเอฟเฟ็กต์ภาพจาก “การเบิร์นอิน” และเพื่อคงประสบการณ์การรับชมให้เสมอต้นเสมอปลาย

สำหรับหน้าจอแต่ละชนิดนั้นโดยมากจะขึ้นอยู่กับราคาของตัวเครื่องเป็นหลัก โดยหน้าจอประเภท OLED ทั้งหมดส่วนมากจะอยู่ในมือถือที่มีราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ส่วนมือถือในช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาทส่วนมากจะใช้เป็นหน้าจอ IPS แล้ว ส่วนหน้าจอ TFT จะอยู่ในมือถือระดับเริ่มต้นที่มีราคาไม่เกิน 3,000 บาท แถมส่วนมากจะเป็นมือถือที่ใช้ Android Go ทั้งสิ้น ด้วยความที่เป็นหน้าจอแบบเก่าทำให้ต้นทุนถูกเอามาก ๆ แต่ก็แลกมาด้วยการสัมผัสและอัตราการตอบสนองที่ช้ากว่า รวมถึงการแสดงผลที่คมชัดไม่เท่า IPS

สำหรับหน้าจอ OLED ที่มีจุดเด่นคือให้สีตรงและมีความสว่างมากนั้น ใน Apple จะเรียกเป็นหน้าจอ Retina ส่วนในมือถือ Android จะใช้คำว่า OLED ไปตรง ๆ เลย

หน้าจอ AMOLED นั้นแต่เดิมมีแต่ Samsung เท่านั้นที่ใช้ เพราะเป็นหน้าจอที่ Samsung พัฒนาต่อยอดจากหน้าจอ OLED ขึ้นมาเอง และในช่วงหลัง ๆ มือถือ Android ยี่ห้ออื่น ๆ เองก็น้ำไปใช้กันแล้ว มีทั้งรุ่นระดับกลางและรุ่นเรือธงเลย

Super AMOLED / Super AMOLED Plus เป็นหน้าจอที่จะเจอในมือถือ Samsung เป็นหลัก นอกเหนือจากนี้จะเจอในมือถือ Android ยี่ห้ออื่นเป็นบางรุ่นเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเพราะราคาชิ้นส่วนค่อนข้างแพง จึงมีแค่ Samsung ที่เป็นผู้ผลิตเอาไปใช้เองซะหมด รวมถึงหน้าจอ Dynamic AMOLED ที่เป็นตัวใหม่ล่าสุดด้วย และด้วยความที่เป็นของใหม่ทำให้ในปัจจุบันมีเพียง Samsung Galaxy Note 10/10 Plus และ Samsung Galaxy Note 20 Ultra เท่านั้นที่ใช้

ในปัจจุบันนี้หน้าจอประเภท OLED เริ่มกลายเป็นหน้าจอมาตราฐานในมือถือไปแล้ว และหากต้นทุนการผลิตหน้าจอ OLED ลดลงยิ่งกว่านี้ มือถือราคาไม่เกิน 10,000 บาท ก็จะได้ใช้ด้วยเช่นกัน

ตอนนี้อีกสิ่งที่เริ่มส่งผลต่อการเลือกหน้าจอก็เริ่มมีความโดดเด่นขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือค่า Refresh Rate (หมายถึงหน้าจอสามารถแสดงภาพนิ่งได้กี่ภาพใน 1 วินาที)ซึ่งแต่เดิมทีแล้วหน้าจอที่แบบจะมีค่า Refresh Rate อยู่ที่ 60Hz เหมือน ๆ กันหมด แต่ทว่าในช่วงหลัง ๆ มานี้ แบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มทำการเพิ่มค่า Refresh Rate ให้มากขึ้น โดยในยุคแรกเริ่มการเพิ่มค่า Refresh Rate ให้สูงนั้นจะอยู่ในมือถือเกมมิ่งเป็นหลัก แต่ทว่าในยุคหลัง ๆ มานี้เริ่มมีการเพิ่มค่า Refresh Rate ให้กับมือถือสายใช้งานทั่วไปอีกด้วย ซึ่งค่า Refresh Rate ในตอนน้จะมี 60Hz (ค่าเริ่มต้น), 90Hz, 120Hz, 144Hz และ 165Hz (สูงที่สุดในตอนนี้) โดยยิ่งค่าสูงยิ่งทำให้ภาพมีความลื่นไหลมากขึ้น และยังมีความเร็วในการตอบสนองต่อการสัมผัสที่รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

สำหรับในด้านการใช้งานทั่วไปจะช่วยให้เวลาปัดหน้าจอเร็ว ๆ จะทำให้ภาพดูมีความลื่นไหล และไม่ปวดหัวเวลาจ้องนาน ๆ ด้วย สำหรับในด้านการเล่นเกมนั้นด้วยการตอบสนองต่อการสัมผัสที่รวดเร็วทำให้การเล่นเกมทำได้สะวดกขึ้น (โดยเฉพาะพวกที่กดหน้าจอเร็ว ๆ จะเห้นผลชัดเลย)

Write a Comment