คัดมาให้! สรุปประเด็นเด็ดข่าวดังของวงการ มือถือ-ไอที ปี 2021

ปี 2021 ก็ต้องยอมรับเลยว่าเป็นปีที่วงการมือถือ และไอทีมีประเด็นเกิดขึ้นมากมายทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยเอง หรือจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และนี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดที่ทีมงาน MXPhone นำมาสรุปให้ผู้อ่านได้หวนรำลึกกัน โดยข้ออนุญาตสรุปตามประเด็น ไม่เรียงตามไทม์ไลน์ของเหตุการณ์

ประเดิมปี 2021 ด้วยอีเวนท์ใหญ่ของทาง Samsung อย่างงาน Galaxy Unpacked ที่ปีนี้ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ได้เลือกขยับไทม์ไลน์งานเปิดตัวเรือธงรุ่นแรกของปีให้ไวขึ้นจากปกติที่มักจะอยู่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มาเป็นต้นปีช่วงกลางเดือนมกราคม

สำหรับ Samsung Galaxy S Series ในปีนี้ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวังจัดเต็มกัน 3 รุ่น ทั้ง Galaxy S21, S21+ และ S21 Ultra ซึ่งไฮไลท์ต้องยกให้รุ่นพี่ใหญ่ที่จัดเต็มด้วยหน้าจอ Dynamic AMOLED 2X Display ขนาด 6.8 นิ้ว สามารถแสดงผลรีเฟรชเรท 120Hz โดยเป็น S Series รุ่นแรกที่มีการพัฒนาให้รองรับการทำงานร่วมกับปากกา S Pen,เป็นมือถือที่มีกล้อง Telephoto ติดมาให้ถึง 2 ตัวมีระยะซูมได้สูงสุด 100 เท่า และเป็นรุ่นที่มีชิปเรือธง Exynos 2100 ใช้ Cortex-X1, GPU แรงขึ้น 40% พร้อมโมเด็ม 5G ในตัว

นอกจากจะมีการเปิดตัวมือถือใหม่แล้ว Samsung ก็ยังเปิดตัวหูฟังไร้สายรุ่นใหม่อย่าง Galaxy Buds Pro กับอุปกรณ์ติดตามอัจฉริยะอย่าง SmartTag และ SmartTag+ อีกด้วย

แน่นอนว่าหลังจากรุ่นใหม่เปิดตัวรุ่นก่อนหน้าอย่าง Galaxy S20 Series ก็เริ่มหยุดวางจำหน่ายตามธรรมเนียมที่ว่าเก่าไปใหม่มา แต่สิ่งที่หลายๆ คนสนใจคือการเริ่มมีกระแสข่าวออกมาว่า Samsung อาจจะถึงหยุดทำ Galaxy Note เพราะสิ่งที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของมือถือซีรีส์นี้อย่าง จอใหญ่ รองรับ S Pen ได้ถูกหยิบมาใช้ Galaxy S21 Ultra แล้ว แถมตัวปากกา S Pen เองก็มีข่าวว่าอาจจะขยายไปให้สมาร์ทโฟน Galaxy ตระกูลอื่นได้ใช้งานด้วย และในเวลาต่อมา Dong-jin Ko ซีอีโอแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเคลื่อนที่ (IM) ของ Samsung Electronics ได้ยืนยันว่า Galaxy Note ใหม่จะไม่มีการเปิดตัวในปีนี้ และจะเลื่อนไปเป็นปีหน้าแทน

ข่าวดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันจากงาน Galaxy Unpacked รอบเดือนสิงหาคม ที่ Samsung เลือกให้มือถือจอพับเป็นรุ่นไฮไลท์ของแบรนด์สำหรับทำตลาดในช่วงปลายปี โดยมาทั้งรุ่นใหญ่ Samsung Galaxy Z Fold3 5G เรือธงจอพับรุ่นแรกของแบรนด์ที่มีเทคโนโลยีกล้องใต้จอแสดงผล (Under-Display Camera) และยังรองรับการทำงานกับปากกา S Pen และ Galaxy Z Flip3 5G มือถือจอพับ ดีไซน์ฝาพับ กันน้ำ ทนทาน ทรงสวยขนาดกะทัดรัด ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น

ไม่ใช่แค่เพียงมือถือเพราะยังมีสินค้าใหม่ทั้ง Samsung Galaxy Watch4 Series สมาร์ทวอทช์รุ่นแรกที่ Samsung ทำงานกับ Google เพื่อสร้างแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง One UI Watch รองรับการติดตั้งแอปเสริมทั้งจาก Samsung และพาร์ทเนอร์ของ Google กับหูฟังไร้สาย Galaxy Buds2

สำหรับ Samsung Galaxy S21 FE ที่ลือกันมาตั้งแต่ช่วงกลางถูกพับแผนเปิดตัวในปีนี้ และคาดว่าจะขยับไปเปิดตัวในช่วงเดือนมกราคมปีหน้าแทน ส่วน S22 ก็คาดว่าจะกลับไปสู่ไทม์ไลน์เดิมคือช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

สินค้าจาก Apple ยังคงน่าสนใจทั้ง iPhone 13 Series, iPad mini หรือ MacBook Pro

ปี 2021 ก็ยังคงเป็นปีที่สินค้า Apple ยังคงดึงดูดเงินจากผู้ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน iPhone 13, 13 mini, 13 Pro และ 13 Pro Max ที่มาพร้อมชิป A15 Bionic ขณะที่รุ่นท็อปอย่าง iPhone13 Pro และ iPhone 13 Pro Max ก็เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของแบรนด์ที่มีตัวเลือกความจำสูงถึง 1TB พร้อมเทคโนโลยีหน้าจอใหม่รีเฟรชเรทสูงสุด 120Hz

สำหรับอุปกรณ์แท็บเล็ต Apple ก็ยังครองตลาดโดยไฮไลท์ของปีนี้คือ iPad mini ที่มีการปรับดีไซน์ใหม่ดูสวยขึ้น ใช่จอ 8.3 นิ้วภายใต้ขนาดเครื่องที่ยังพกง่าย รองรับ 5G และรองรับการทำงานกับปากกา Apple Pencil ถูกใจผู้ใช้วัยนักเรียน นักศึกษา ด้านสมาร์ทวอทช์เองก็มีรุ่นใหม่ Apple Watch Series 7 รวมถึงหูฟัง AirPods 3

ทางฝั่ง Xiaomi เองก็ยังเป็นแบรนด์จีนที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวไทยในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายสมาร์ทโฟน หรือสายอุปกรณ์ AIoT แก็ตเจต

เริ่มกันตั้งแต่ช่วงต้นปี Xiaomi ประเทศไทยก็ได้ส่งมือถือจากแบรนด์ย่อยอย่าง Redmi Note 9T เข้ามาลุยประเทศไทย โดยเป็นมือถือ 5G ที่มีราคาเริ่มต้นกระตุกจิต กระชากใจเพียง 5,999 บาท จัดว่าคุ้มสุดในชั่วโมงนั้น พร้อมด้วยตัวเลือกรุ่น 4G อย่าง Redmi 9T ที่ราคาสตาร์ท 4,499 บาท ก่อนจะเล่นใหญ่ต่อเนื่องด้วยมือถือ Mi 11 Series ที่มีรุ่นไฮไลท์อย่าง Mi 11 Ultra เรือธงกล้องความละเอียดสูงสุด 50 ล้านพิกเซล พร้อมสเปคการซูม 120 เท่า อีกทั้งยังมีจอรองด้านหลังเครื่องแต่ก็น่าเสียดายที่มือถือรุ่นนี้มีเข้าไทยแค่ 100 เครื่องเท่านั้น

ขณะเดียวกันในปีนี้ทาง Xiaomi เองก็มีการเปิดตัว Mi Mix Fold สมาร์ทโฟนจอพับได้รุ่นแรกของค่ายที่มากับรูปแบบการพับจอเข้าด้านในให้พื้นที่แสดงผลกว้างสูงสุด 8.01 นิ้ว และมีจอรองด้านนอก 6.52 นิ้ว ชิป Snapdragon 888 กล้องหลัง 3 ตัวความละเอียดสูงสุด 108 ล้านพิกเซล พร้อมเทคโนโลยี Liquid Lens ที่ช่วยปรับการโฟกัสตามระยะต่างๆ ได้เร็วขึ้นกว่าตัวระบบโฟกัสปกติ ซึ่งสนนราคาขายในต่างประเทศเริ่มต้นที่ 9,999 หยวน หรือราว 47,600 บาท

เรื่องนวัตกรรมทาง Xiaomi ก็ไม่ธรรมดาเพราะในเดือนสิงหาคมก็ได้เปิดตัว Mi MIX 4 เรือธงกล้องใต้จอรุ่นแรกของแบรนด์ และยังเป็นรุ่นแรกของโลกที่ได้ใช้ชิปเรือธงอัพเกรด Snapdragon 888+ เรียกว่าเปิดตัวตัดหน้าคู่แข่งอย่าง Samsung ที่จะส่งเรือธงที่มีกล้องใต้จอออกมาสู่ตลาดเช่นกัน (Xiaomi Mi MIX 4 เปิดตัว 10 สิงหาคม ขณะที่ Samsung Galaxy Z Fold3 5G เปิดตัว 11 สิงหาคม) และอีกหนึ่งการกลับมาที่น่าสนใจคือ Xiaomi Pad 5 Series แท็บเล็ตรุ่นใหม่ของค่าย

อีกสิ่งหนึ่งที่ Xiaomi มีการปรับเปลี่ยนคือทางแบรนด์ได้ประกาศยกเลิกการใช้ชื่อแบรนด์ Mi นำหน้าชื่อรุ่นอุปกรณ์ใหม่ๆ และได้ประเดิมนโยบายนี้กับมือถือ 11T Series

ส่วนใครที่เป็นแฟนของแบรนด์รองอย่างมือถือ Redmi หรือ POCO ปีนี้ก็ไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะมีรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเติมให้กับตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แถมยังเน้นไปที่การทำมือถือ 5G ระดับกลางซึ่งช่วยให้คนไทยสัมผัสกับประสบการณ์เครือข่ายใหม่ได้ง่ายกว่าเดิม

นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว Xiaomi เองก็ยังมีพวกสินค้า AIoT เปิดตัวออกมาอีกเพียบซึ่งก็มีทั้งรุ่นที่เข้าไทยอย่าง กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ Mi 360° Home Security Camera 2K Pro, Mi Smart Band 6, Mi Smart Projector 2 Pro เป็นต้น หรือจะเป็นของที่ขายเฉพาะต่างประเทศอย่าง นาฬิกาอัจฉริยะ Mi Smart Clock, Sunuo T11 Pro Smart Visual Ultrasonic Dental Scaler เครื่องขูดหินปูนอัจฉริยะแบบพกพาราคาไม่ถึงพัน ที่ Xiaomi เปิดเป็นโปรเจคระดมทุนบนแพลตฟอร์ม Youpin หรือจะเป็น CyberDog หุ่นยนต์สี่ขาไบโอนิคที่มีรูปทรงคล้ายสุนัข

สำหรับแผนการในอนาคตและกำลังเป็นเทรนด์ของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในปีนี้คือเรื่องของการทำธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง Xiaomi เองก็ลุยเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยการตั้งบริษัทใหม่ พร้อมวางงบลงทุนในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไว้ที่ราว 10,000 ล้านเหรียญ โดยมี Lei Jun ซีอีโอของ Xiaomi นั่งตำแหน่งซีอีโอของบริษัทด้วย

แต่จะว่าไปในเดือนมกราคมเอง Xiaomi ก็มีเรื่องให้ต้องปวดหัวอยู่เหมือนกันเพราะในเดือนเดียวกันนั้น สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของผู้ที่กำลังจะเป็นอดีตประธานาธิปดีอย่าง Donald Trump ก็ได้จัดแมตช์สั่งลาลงนามคำสั่งขึ้นบัญชีดำด้านการลงทุนกับ 9 บริษัทจากจีนและหนึ่งในนั้นก็คือ Xiaomi โดยใช้ข้อกล่าวหาว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานทหารที่เป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ของจีนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า Xiaomi อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับที่ HUAWEI เผชิญอยู่ ขณะที่ฝั่งแบรนด์เองก็รีบออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเพื่อปฏิเสธข้อหาดังกล่าว พร้อมเปิดหน้าสู้ทำเรื่องยื่นฟ้องหน่วยงานกลาโหมและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในทันที และสุดท้ายก็เป็น Xiaomi ที่ชนะคดีจนหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็น “บริษัททหารของจีนคอมมิวนิสต์” ได้สำเร็จ

สินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนของ HUAWEI ประเทศไทยในปีนี้ถือว่าเงียบเหงา ซึ่งปัญหาหลักๆ ก็มาจากเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วน ทำให้ในปีนี้ มีเข้าไทยแค่เพียง 2 รุ่นเท่านั้น แถมยังเป็นรุ่นระดับกลางจากตระกูล nova อย่าง nova 8i และ nova 9

สำหรับมือถือเรือธงของ HUAWEI ภาพรวมในปีนี้ถือว่าเงียบเหงา แต่ก็มีให้ตื่นเต้นกันบ้างในช่วงปลายปีเมื่อได้ประกาศเตรียมนำ HUAWEI P50 Pro เข้ามาวางขายในไทยช่วงต้นปี 2022 หลังจากเปิดตัวในจีนไปตั้งแต่เดือนกรกฏาคม พร้อมกับรุ่น P50 ธรรมดา

ความพิเศษของ P50 Pro ต้องยกให้คำนิยามว่าเป็น การเกิดใหม่ของตำนาน (Legend Reborn) ซึ่งใครที่ตามมือถือ P Series มาโดยตลอดจะทราบกันดีว่าตระกูลนี้คือตัวท็อปในวงการกล้องสมาร์ทโฟน ซึ่งรุ่นนี้ก็มาพร้อมระบบกล้อง Dual-Matrix Camera ใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพ HUAWEI XD Optics ช่วยเก็บรายละเอียดการกระจายตัวของแสงให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมด้วยเทคโนโลยี XD Fusion Pro เก็บภาพหลายเลเยอร์ในภาพเดียว มอบภาพสีเสมือนจริงดั่งตาเห็นแบบ, True-Chroma รวมไปถึงเทคโนโลยีกันสั่นทั้งรูปแบบ OIS และ AIS ช่วยเก็บภาพวิดีโอในระดับ 4K เป็นเรื่องง่าย ในด้านดีไซน์ตัวเครื่องยังคงคอนเซ็ปต์ความหรูหราในสี Cocoa Gold และสีดำ Golden Black

อีกเซอร์ไพรส์คือการเปิดตัว HUAWEI P50 Pocket สมาร์ทโฟนจอพับ ในรูปแบบฝาพับ (Clamshells) รุ่นแรกของแบรนด์ซึ่งดีไซน์จัดว่าหรูหราเหมาะกับผู้ใหญ่ คนละเวย์กับ Galaxy Z Flip3 ที่มีความฉูดฉาด แฟชั่น ตามแบบฉบับวัยรุ่น ใครที่อยากอ่านข้อมูลสเปคก็กดอ่านจากพรีวิวที่เราทำไว้ได้เลย

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมนอกจากนี้ไว้ถ้ามีโอกาสได้เครื่องมารีวิวจะนำมาเล่าให้ฟังกันอีกที ซึ่งใครที่สนใจก็เตรียมเก็บเงินกันได้ HUAWEI คอนเฟิร์มแล้วปีหน้ามาไทยแน่

ปีนี้นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว HUAWEI ก็ดูจะเน้นไปที่สินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพื่อที่จะได้รักษาพื้นที่ในตลาดประเทศไทยเอาไว้โดยมีไลน์โปรดักซ์หลักๆ อย่างแท็บเล็ตทั้ง HUAWEI MatePad 11, HUAWEI MatePad Pro 10.8-inch และ HUAWEI MatePad Pro 12.6-inch อุปกรณ์สวมใส่และหูฟังอย่าง HUAWEI Band 6, Watch 3, Watch 3Pro และ FreeBuds 4, แล็ปท็อป HUAWEI MateBook 14, HUAWEI MateBook D 14 และ HUAWEI MateBook D 15 เป็นต้น

ขณะเดียวกัน HUAWEI ก็ยังเปิดตัวในตลาดยานยนต์ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า SUV รุ่นแรกของค่ายอย่าง Seres SF5 ที่มาพร้อมกับระบบ HUAWEI HiCar ที่ใช้ Harmony OS ของ HUAWEI ผู้ใช้จึงสามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับรถ และควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะได้โดยตรงจากหน้าจอสัมผัส และชุดเครื่องเสียง HUAWEI SOUND ซึ่งปัจจุบันมีให้ทดลองขับในประเทศจีน สนนราคาเริ่มต้นที่ 216,800 หยวน หรือราว 1.04 ล้านบาท

ในขณะที่มือถือหลายๆ แบรนด์กำลังเติบโต ก็เป็นธรรมดาที่จะมีแบรนด์ที่ไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็น LG แบรนด์จากประเทศเกาหลีใต้ ที่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ได้ประกาศปิดหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือทั่วโลก และโฟกัสการใช้ทรัพยากรของบริษัทไปยังแผนกที่มีโอกาสเติบโตอย่าง การผลิตส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า, อุปกรณ์เชื่อมต่อ, บ้านอัจฉริยะ, หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์ และโซลูชันแบบธุรกิจต่อธุรกิจ ตลอดจนแพลตฟอร์มและบริการอื่นๆ

จากการประกาศดังกล่าวทำให้มือถือที่มีแผนจะเปิดตัวอย่าง LG V70, LG Velvet 2 Pro หรือ LG Rollable สมาร์ทโฟนที่มีนวัตกรรมจอม้วน ก็ต้องถูกพับโปรเจคไป ซึ่งรุ่นไหนที่มีการผลิตออกมาแล้วก็มีข่าวว่าถูกปล่อยขายให้กับเฉพาะพนักงาน ไม่ได้ออกมาวางตลาดทั่วไป

ขยับมาสู่ฝั่งเกมกันบ้างในช่วงเดือนมกราคมสิ่งที่เกมเมอร์ไทยรอคอยก็มาถึงเมื่อ Sony Thai ประกาศวันวางจำหน่ายเครื่องเกมคอนโซลแห่งปี PlayStation 5 อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยจะเปิดให้จองผ่านช่องทางออนไลน์กับตัวแทนจำหน่ายได้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม นับว่าเป็นความหวังของผู้บริโภคไทยที่ยอมอดทนรอเพราะอยากได้เครื่องในราคาหน้าร้าน ไม่ต้องซื้อผ่านการรับหิ้วจากต่างประเทศที่จะต้องโดนบวกราคาไปเป็นเท่าตัว

ทว่าในเวลา 11.00 น. ของวันที่เปิดจองดราม่าก็บังเกิดขึ้นทันทีเพราะแค่เพียง 2 นาทีที่เปิดจอง หลายๆร้านก็ประกาศว่าเครื่องขายหมดเกลี้ยงแล้ว บางร้านก็ถึงขนาดเว็บล่มไปเลย เนื่องจากมีความต้องการมหาศาล ขณะที่ Sony Store ก็มีคนเข้ามามากจนเว็บล่มระบบเดินต่อไม่ได้ ทำให้เฉพาะของ Sony Store ถูกเลื่อนไปจองใหม่อีกรอบวันที่ 25 มกราคม

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการจำนวนมหาศาลสวนทางกับปริมาณเครื่องที่เข้ามาขาย ที่ยังไม่นับรวมกับผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องไปกดแย่งจองเครื่องแข่งกับพ่อค้ารีเซล และจากข่าวตลอดปีที่ผ่านมาก็ส่อแววว่า PS5 อาจจะยังหาซื้อยากต่อไปอีกยาวๆ

ปีนี้ตลาดเครื่องเกมพกพาเองก็มีอะไรให้ตื่นเต้นอยู่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Nintendo ที่มีการออกของใหม่เป็น Switch OLED ที่มีการปรับปรุงด้านจอแสดงผล, เพิ่มพื้นที่ความจำ, ลำโพงดีขึ้น และมีการปรับดีไซน์เครื่องใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเข้ามาขายในไทยแล้วในราคา 16,900 บาท

แต่ที่คนดูจะตื่นเต้นกันมากที่สุดคือเครื่องเกมของค่าย Valve อย่าง Steam Deck ซึ่งเป็นเครื่อง PC สำหรับเล่นเกมขนาดพกพารันบนระบบปฏิบัติการ SteamOS สามารถเล่นเกมที่อยู่บนร้านค้า Steam ได้ และมีระบบ Cloud ที่โหลดเกมที่เล่นค้างบน PC มาเล่นต่อบนเครื่องนี้ได้ด้วย จัดว่าเป็นเครื่องเกมคอนโซลที่น่าสนใจจนทำให้ปู่นินที่เคยเป็นเจ้าตลาดต้องร้อนๆ หนาวๆ กันเลยทีเดียว

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่คนไทยได้รู้จักกับ “Clubhouse” โซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่ฉีกกฏการใช้งานแบบเดิมๆ โดยเป็นระบบการ “แชทด้วยเสียง” และเป็นลักษณะคอมมูนิตี้ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ได้ตั้งห้องเพื่อคุยในประเด็นต่างๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งเรื่อง การเมือง, เทคโนโลยี และชีวิตประจำวัน

การเข้าใช้แพลตฟอร์มนี้ไม่ใช่ว่าแค่โหลดแอปและ Login ก็เข้าได้เลย เพราะคนที่จะเล่นได้จำเป็นที่จะต้องได้รับการ “Invite” หรือการเชิญจากผู้ที่ใช้งานอยู่ก่อนแล้ว แถมช่วงแรกยังเปิดให้ใช้แค่เฉพาะ iOS เท่านั้น ขณะที่คนฝั่ง Android ที่อยากเล่นก็ต้องใช้ช่องทาง iEMU หรือเล่นผ่านแอปเทียบอย่าง Houseclub ก่อนที่ผู้พัฒนาจะเปิดเวอร์ชั่น Android ในเดือนพฤษภาคม

ความนิยมของ Clubhouse จัดว่าเป็นกระแสที่มาแรงพอๆ กับที่ TikTok ทำไว้ในช่วงปี 2020 จนทำให้แพลตฟอร์มรุ่นพี่ต้องปรับตัวทำฟีเจอร์ที่มีรูปแบบคล้ายๆ กันออกมาแข่งไม่ว่าจะเป็น Spaces ของ Twitter, Live Audio Rooms ของ Facebook หรือ Greenroom ของ Spotify

ด้วยความอิสระในการตั้งประเด็น รวมถึงความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ยึดหลักประชาธิปไตยสุดๆ ทำให้ Clubhouse กลายเป็นสังคมออนไลน์ที่วัยรุ่นไทยและนักวิชาการอิสระนิยมเข้าไปพูดคุย หรือถกประเด็นต่างๆ กัน ขณะที่เหล่าคนดัง, ดารา หรือผู้บริหารระดับสูง ก็ใช้โอกาสนี้ในการแชร์ประสบการณ์ต่างๆ จากแวดวงธุรกิจ หรืออาชีพของตนเองให้กับแฟนๆ และผู้ที่สนใจได้รับฟังกันฟรีๆ

ขณะเดียวกันทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ภายใต้การนำของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ณ ตอนนั้น ก็ได้มีการเคลื่อนไหว ส่งคำเตือนไปยังผู้ใช้ให้ระวังในการแสดงความเห็น มิให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่น สร้างความเสียหาย ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

กลายเป็นสิ่งที่หลายๆ คนให้ความสนใจสำหรับ Starlink บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ SpaceX โดย Elon Musk ที่ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจซึ่งรวมถึงในไทย สามารถสั่งจองผ่านเว็บไซต์ได้ที่ราคา 99 เหรียญฯ หรือราว 3,000 บาท (ไม่รวมค่าอุปกรณ์ที่ต้องจ่ายเพิ่มครั้งแรก) โดยเริ่มเปิดให้บริการช่วงกลางถึงปลายปี 2021 ในประเทศสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และอังกฤษ ก่อนจะทยอยเปิดให้ใช้งานตามคิวที่ลงไว้โดยคาดว่าจะครอบคลุมทั้งหมดในปี 2022

สิ่งที่หลายๆ คนสนใจจากอินเตอร์เน็ตดาวเทียมคือการให้สปีดดาวน์โหลดที่รวดเร็วมากๆอยู่ที่ 50-150Mb/s และมีระดับความหน่วงต่ำที่ประมาณ 20-40ms โดยที่ Elon Musk เองก็มีแนวคิดจะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้วยราคาที่ถูกไม่ว่าจะอาศัยหรือว่าใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม

แน่นอนว่าหาก Starlink ถูกพัฒนาและพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบก็อาจจะกลายเป็นตัวพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมบริการอินเทอร์เน็ตโลกไปพอสมควร ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

เป็นอีกปีที่ไทยยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ซึ่งนำไปสู่การล็อคดาวน์อีกครั้ง และเพื่อให้ไม่ให้ตกขบวนการรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล หรือจะเป็นการจองคิวเพื่อฉีดวัคซีน ทำให้ประชาชนคนไทยจำเป็นที่จะต้องโหลดแอปพลิเคชั่นอย่าง “เป๋าตัง” และ “หมอพร้อม” ติดเครื่อง

จากสาเหตุดังกล่าวก็กลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มือถือระดับล่างและระดับกลางมีทิศทางที่เติบโตขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 1 เพราะคนที่เคยใช้มือถือปุ่มกดอย่างผู้สูงอายุ หรือคนในต่างจังหวัดเอง ก็จำเป็นที่จะต้องปรับพฤติกรรมมาหัดใช้สมาร์ทโฟนเพื่อที่จะได้ลงแอปดังกล่าวได้

สำหรับฝั่งผู้ให้บริการด้านเครือข่ายทั้ง AIS, dtac, หรือ TRUE เองก็ต้องปรับตัว ปรับระบบให้รองรับเวลาที่มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์พร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าค่ายไหนทำดีก็เสมอตัว แต่ถ้าพลาดระบบล่มในช่วงเวลาสำคัญก็เตรียมจองคิวติดเทรนด์ทวิตเตอร์กันได้เลย

ในช่วงที่คนไทยยังต้องจำใจอยู่บ้านบริการส่งอาหาร หรือ Food Delivery ก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็ได้มีการทำโปรโมชั่น ทำโค้ด แจกส่วนลด เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากันอย่างหนักหน่วง รวมถึงการทำโปรร่วมกับผู้ให้บริการด้านเครือข่าย

สำหรับผู้ให้บริการที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดต้องยกให้กับ Robinhood ที่ออกนโยบายไม่ว่าจะเป็นการไม่เก็บ GP ร้านอาหาร หรือเพิ่มค่าแรงให้ไรเดอร์เป็นพิเศษ รวมถึงการทำโปรฯ ส่งฟรีทุกออเดอร์ ที่เหมือนเป็นดาบสองคมเพราะกลายเป็นดึงคนเข้าไปใช้งานเยอะจนระบบค้าง และมีจำนวนไรเดอร์ไม่พอต่อยอดการสั่งที่เพิ่มเข้ามา กลายเป็นสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีให้กับลูกค้ามากกว่าจะได้รับคำชม จนทำให้แอปต้องปรับแผนใหม่เป็นจำกัดระยะทางในการส่งเหลือแค่เพียง 10 กม. เท่านั้น

ด้าน Food Panda ก็เจอกระแสทัวร์ลงเต็มๆ ในปีนี้จากกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมราษฎรในเดือนกรกฏาคม ซึ่งก่อให้เกิดแฮชแท็ก #แบนFoodPanda ผู้ใช้ต่างพากันลบแอปฯ ปิดบัญชีที่สมัครไว้ ขณะที่ร้านอาหารที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติของแพลตฟอร์มก็ประกาศหยุดให้บริการส่งอาหารผ่าน Food Panda อีก เรียกว่ากระทบทั้งตัวผู้ให้บริการและไรเดอร์ที่วิ่งอยู่กับแพลตฟอร์ม ทำให้ในที่สุดแล้ว Food Panda ก็ต้องรีบออกมาขอโทษและจะตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างระมัดระวังที่สุด

สำหรับ Gojek หรือชื่อเก่า Get ก็ถูกขายกิจการให้ AirAsia Digital และปรับเปลี่ยนโฉมใหม่โดยรวมกับ AirAsia Super App จนเกิดเป็น AirAsia Food ซึ่งเบื้องต้นยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นของการให้บริการ ยังจำกัดอยู่แค่ในบางพื้นที่ของกรุงเทพ ทำให้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะยืนระยะอยู่ในตลาดนี้ได้นานแค่ไหน

อีกหนึ่งผู้ให้บริการรายใหม่คือ Shopee Food ซึ่งเป็นการแตกไลน์ออกมาจากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ Shopee โดยมีค่าส่งเริ่มต้นอยู่ที่ 10 บาท โดยผู้ใช้งานสามารถชำระค่าบริการและค่าอาหารได้ทั้งหมด 5 รูปแบบ ได้แก่ การตัดผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต, การโอนเงินหรือชำระผ่านบัญชีธนาคาร, การชำระผ่านโมบายล์แบงกิ้ง, ShopeePay และการเก็บเงินแบบปลายทาง รวมถึงการจ่ายด้วย Shopee Coin

ในช่วงเดือนสิงหาคมได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญบนโลกออนไลน์ ที่เป็นเหมือนการรวมพลังของคนในชาติผ่านเกม POPCAT ที่คนไทยได้รวมพลังกันจนทำให้ชื่อ “Thailand” ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับชาติอื่น

สำหรับเกม POPCAT เป็นเกม Clicker บนเว็บไซต์ ที่ใช้มีมหน้าแมว “Oatmeal” ที่เมื่อเรากดไปที่หน้าจอแบบรัวๆ ตัวแมวก็จะอ้าปากปิดปากไปมาตามจำนวนคลิกที่เราทำได้ แต่ที่เป็นไฮไลท์คือไอ้จำนวนคลิกที่เราทำได้ก็จะถูกนำไปเก็บเป็นสถิติระดับประเทศเพื่อนำมาจัดอันดับว่าประเทศไหนกดเจ้า POPCAT ได้มากที่สุด

ตามข้อมูลระบุว่าก่อนหน้าที่ไทยจะรู้จักเกมดังกล่าวสถิติอันดับ 1 ของโลกเป็นของ ไต้หวัน ซึ่งใช้เวลาราว 1 เดือนในการเอาชนะ 218 ประเทศทั่วโลก แต่หลังจากประเทศไทยรู้จักเกมนี้ จนเริ่มมีการเรียกระดมพลผ่านสื่อและสังคมออนไลน์ก็เป็นไทยเราเองที่ใช้เวลาเพียง 1 วันในการเอาชนะไต้หวันขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นข้อพิสูจน์ความเป็นสายเลือดนักสู้ที่ไม่เคยขาดการฝึกฝนของชาวเน็ตไทย ดังคำกล่าวที่ว่า “ยามศึกเรารบ ยามสงบเราก็รบกันเอง” ได้เป็นอย่างดี

ในเดือนมิถุนายนคนไทยก็มีตัวเลือกความบันเทิงเพิ่มขึ้นเมื่อ Disney+ Hotstar แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่อุดมได้ด้วยภาพยนต์, ซีรีส์ และรายการ จาก Disney, Marvel, Pixar, Star Wars, National Geographic และอื่นๆ อีกมากมาย ได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีราคาแพ็คเกจเพียงปีละ 799 บาท สำหรับรายเดือนอยู่ที่ 99 บาท แต่สำหรับลูกค้า AIS ก็มีโปรพิเศษอย่างแพ็คเกจรายเดือนแค่ 49 บาท หรือจ่ายรายปีแค่ 499 บาท เรียกว่าคุ้มค่าสุดๆ

แน่นอนว่าในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ Disney+ Hotstar ก็มีปัญหาอยู่บ้าง อาทิเช่น การเซ็นเซอร์ที่กระทบกับอรรถรสของเนื้อหา, ภาพไม่ชัด, เสียงไม่คม, อัตราส่วนภาพผิดเพี้ยน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทางผู้ให้บริการก็มีการปรับแก้กันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มคอนเทนท์ที่ตรงจริตผู้ชมชาวไทย เพื่อให้ลบภาพว่าเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเด็กดูการ์ตูน หรือใช้เสพหนังฮีโร่เพียงอย่างเดียว

ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ Tokyo Olympic Games 2020 ที่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต้องขยับมาจัดในปี 2021 ในระหว่างวันที่ 23 กรกฏาคม – 8 สิงหาคม และก็เป็น AIS ที่คว้าสิทธิ์ Official Broadcaster เพียงรายเดียวในประเทศไทย ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันให้คนไทยได้รับชมผ่าน AIS Play ทั้ง 16 ช่อง แถมหลังจบการแข่งขันก็ยังไม่พลาดคว้าตัวฮีโร่สาวเหรียญทอง “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวไทยในรุ่น 49 กก. เข้าสู่ครอบครัว AIS Family

ตัว Windows 11 มากับดีไซน์ที่ยกเครื่องใหม่ทั้งปรับ Taskbar ย้ายตำแหน่งปุ่ม Start Windows ปรับปรุง Windows Snap Assist หรือการแบ่งหน้าจอ และที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือคือร้านค้าใหม่และรองรับแอป Android บน Windows ซึ่ง Microsoft ได้ร่วมมือกับ Amazon และ Intel ในการนำเทคโนโลยี Intel Bridge มาใช้รันความสามารถดังกล่าว

ในวันที่ 4 ตุลาคม ช่วงเวลาประมาณ 20:00 น. ตามเวลาในไทย ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำเอาปั่นป่วน เมื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook เกิดเหตุล่ม ไม่สามารถใช้งานอะไรได้ ซึ่งปัญหานี้ก็ยังรวมไปถึงบริการในเครือทั้ง Instagram, WhatsApp และ Oculus

แน่นอนว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ในรูปแบบนี้ แต่สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะมันเป็นการล่มที่กินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้งานในโลกฝั่งตะวันตกที่เรียกว่าไม่สามารถใช้งาน Facebook ได้ตลอดทั้งวัน สำหรับในไทยเองก็มีผลกระทบเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้รุนแรงมากนักเนื่องจากช่วงที่เกิดเหตุตรงกับช่วงดึก ถึงเช้าตรู่ของบ้านเราพอดี

หลังจากที่แก้ไข และทำให้ระบบกลับมาใช้งานได้ตามปกติทาง Facebook เองก็ได้เผยว่าสาเหตุที่ทุกเครือข่ายการให้บริการเกิดปัญหาด้านเทคนิคมาจากการคอนฟิกเราเตอร์ที่ผิดพลาดนั้นเอง

Metaverse เป็นคำศัพท์แห่งอนาคตที่เราได้ยินมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังจากที่ Facebook ประกาศรีแบรนด์ตัวเองเป็น Meta และถอย Facebook ให้เป็นหนึ่งในการให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์คที่อยู่ในเครือของ Meta เช่นเดียวกันกับ Instagram, WhatsApp และ Oculus

Mark Zuckerberg ได้ให้คำนิยามของ Metaverse ว่า “Metaverse จะเป็นเหมือนลูกผสมของประสบการณ์ทางสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ที่บางครั้งอาจจะขยายออกมาอยู่ในรูปแบบ 3 มิติ หรือผสมผสานเข้ากับโลกจริงๆ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่แสนจะดื่มด่ำกับคนอื่นๆ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน และสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถทำในโลกจริงๆ ร่วมกันได้ มันคือวิวัฒนาการก้าวต่อไปของเทคโนโลยีทางโซเชียลแบบระยะยาว”

Metaverse คือการสร้างโลกเสมือนจริงบนพื้นฐานเทคโนโลยี VR และ AR ที่ Zuckerberg เคยประกาศไว้ว่าอุปกรณ์แว่น VR จะเป็นอนาคต ที่ทุกคนจะต้องมีในครอบครองเหมือนกับโทรศัพท์มือถือในยุคนี้

ในปัจจุบันแบรนด์หลายๆ แบรนด์ ก็เริ่มสร้างโลก Metaverse ตามคำนิยามของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น วัดพระธรรมกาย ที่จัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ในโลกเสมือน, Justin Bieber ที่จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้, Baidu ที่เปิดตัว Xi Rang ดินแดนโลกเสมือนที่จะใช้เป็นสถานที่ประชุมนักพัฒนา AI รองรับผู้เข้าร่วมได้สูงสุด 100,000 คน เป็นต้น

เป็นเหตุการณ์สะเทือนตลาดโทรคมนาคมไทยส่งท้ายปี 2021 หลังจากที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) จับมือศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทและเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจจากความร่วมมือของทั้งสองบริษัทคาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงไตรมาสที่ 1 ปีหน้า (มกราคม-มีนาคม) ส่วนการลงนามข้อตกลงต่างๆ จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป

สิ่งที่ตามมาหลังการประกาศก็ไม่พ้นความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดตลาดโดยธรรมชาติเนื่องจากเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย อำนาจในการต่อรองของผู้บริโภคก็มีน้อยลงและตามทฤษฎี รวมถึงโอกาสที่จะเกิดการฮั้วกัน ซึ่งปัจจุบันทาง กรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็ทำได้แค่จับตาดู พร้อมพิจารณากำหนดมาตรการกำกับดูแลที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการและตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องต่อไป

เป็นอีกเรื่องที่ช็อคความรู้สึกคนใช้ เมื่อ LINE TV บริการแพลตฟอร์มทีวีและวีดีโอออนดีมานด์จากทาง LINE ประกาศยุติการให้บริการในประเทศไทยหลังอยู่มานาน 7 ปีกว่า โดยวันสุดท้ายที่จะเปิดให้บริการคือ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งถ้าใครสังเกตในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา LINE TV ได้นำคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มของตัวเองซึ่งเป็นออริจินอลคอนเทนต์ไปฉายอยู่บนแพลตฟอร์ม Netflix

แน่นอนว่าปัญหาหลักๆ ก็มาจากเรื่องรายได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นซึ่งในปัจจุบันที่มีบริการวีดีโอออนดีมานด์เปิดให้บริการในไทยหลายเจ้า ทั้งแบบดูฟรี และแบบเสียเงิน แต่ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้ผู้ใช้ไม่อยากดู LINE TV แม้จะเป็นการดูฟรีคือเรื่องของโฆษณาที่มีเยอะจนเกินพอดี

นับว่าเป็นข่าวดีเหมือนดังของขวัญ (จากภาษีประชาชน) ส่งท้ายปี เมื่อในที่สุดทางหน่วยงานราชการของไทยก็ได้ฤกษ์ขยับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาความรุงรัง ยุ่งเยิง ของสายสื่อสาร ซึ่งเป็นภาพชิ้นตาและกับดักการใช้ชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง และยังเป็นแลนด์มาร์คให้ชาวต่างชาติถ่ายภาพแชร์งานอาร์ตของหน่วยงานไทยไปสู่สายตาชาวโลก

ตามรายงานที่ทราบในตอนนี้คือทาง สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งโต๊ะถกประเด็น “การจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ” ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยปรับรูปแบบให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า รวมถึงการนำสายลงใต้ดินอย่างเร่งด่วนภายในปี 2567 นอกจากนี้ยังหารือถึงความเป็นไปได้ในการมัดรวมจัดให้มีการใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงรายเดียว หรือที่เรียกว่า Single Last Mile นั่นเอง

สำหรับการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2565 เบื้องต้นจะดำเนินการในระยะทาง 456 กม. หลังจากนั้นจะดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 936 กม. ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดมีระยะทางรวมประมาณ 6,000 กม. โดยมีการตั้งเป้าดำเนินการให้ได้เฉลี่ยปีละ 2,000 กม. จนแล้วเสร็จในปี 2567

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปข่าวแวดวงสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีของปี 2021 หากตกหล่นหรือหลุดประเด็นไหนไปบ้างก็ขออภัย และหวังว่าในปี 2022 จะมีอะไรสนุกๆ หรือเรื่องราวใหม่ๆ มาให้เราได้ติดตามกัน

Write a Comment